บริษัท มาสเตอร์ทีม จำกัด

ที่ปรึกษา ประกันภัย รับอนุญาต กลุ่มวิศวกร ที่มีพื้นฐานอาชีพ เป็นผู้ออกแบบระบบ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ประกันภัยชนิดพิเศษ

ข่าวสาร ประกันภัย

19-12-2017

ประกันสุขภาพแบบไหน... ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

สบายใจได้แล้ว เพราะกระทรวงการคลังได้ออกกฎหมายมารองรับแล้ว ให้นำเบี้ยประกันสุขภาพ ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ โดยมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา

คนที่ซื้อประกันสุขภาพในปี 2560 จากบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันสุขภาพโดยตรง สามารถนำเบี้ยมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี

กรณีซื้อเฉพาะประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพ สามารถนำไปหักลดหย่อนได้ 2.15 แสนบาท/ปี เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท/ปี

ประกันสุขภาพที่ลดหย่อนภาษีได้

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า แบบประกันสุขภาพทีสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ต้องเข้าเกณฑ์

1.การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

2.การประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

3.การประกันภัยโรคร้ายแรง

4.การประกันภัยการดูแลระยะยาว

ถ้าเงื่อนไขความคุ้มครองเข้าลักษณะข้างต้น ก็สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

ข้อพิจารณาในการเลือกซื้อ

แหล่งข่าวจาก บริษัท แอคชัวเรียลบิสซิเนส โซลูชั่น (เอบีเอส) แนะนำว่า ก่อนเลือกซื้อประกันสุขภาพ ควรจะพิจารณาว่าเมื่อซื้อแล้วทางบริษัทประกันให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือไม่ต้องร่วมจ่าย ก็อยู่ที่ผู้ซื้อต้องการ

- สามารถใช้บริการโรงพยาบาลใดก็ได้

- ไม่มีปัญหาในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

- บริษัทประกันควรจะมีการจ่ายค่ารักษาโดยตรงให้กับทางโรงพยาบาล

- วงเงินความคุ้มครองต่อปีหรือต่อการรักษามีมูลค่าสูง

- มีการจ่ายผลกำไรหรือการเงินเงินคืนบางส่วนกรณีไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

แหล่งข่าวจากเอบีเอส เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้น โรคที่สร้างความกังวลอย่างมากเป็นอันดับต้นๆ คือ โรคมะเร็งและโรคหัวใจ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ซึ่งทั้งสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการประกันสังคม ซึ่งครอบคลุมประชาชน 14 ล้านคน สวัสดิการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชาชน 49 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการ ที่ครอบคลุมประชาชน 5 ล้านคน และประกันสุขภาพที่สมัครใจทำด้วยตัวเอง จะให้ความคุ้มครองทั้งสองโรคข้างต้น แต่มีรายละเอียดการให้ความคุ้มครองและการรักษาที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ สวัสดิการการรักษาของรัฐ จะจ่ายค่ารักษาตามจริงในโรคที่ให้ความคุ้มครอง แต่การเข้ารับการรักษาจะต้องใช้โรงพยาบาลรัฐหรือ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ซึ่งจะต้องรอนานเพราะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และต้องพบแพทย์ทั่วไปเพื่อวินิจฉัยก่อนส่งไปหาแพทย์เฉพาะทาง

ในขณะที่ ประกันสุขภาพแบบสมัครใจ สามารถใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีแพทย์เฉพาะทางได้เลย ไม่ต้องรอนาน แต่ความคุ้มครองจะจำกัดตามความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันของผู้ซื้อ ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากทั้งสองระบบเพื่อให้เกิดการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2560 มีประชาชนซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิต 4.63 หมื่นล้านบาท และซื้อจากบริษัทประกันวินาศภัย 6,286 ล้านบาท

ที่มา : posttoday